ห้องครัวที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย จะต้องออกแบบให้ถูกต้องตามสรีรศาสตร์ หรือ Ergonomic ซึ่งหมายถึง การศึกษาสภาพแวดล้อมโดยรอบเพื่อความเหมาะสมกับการทำงานหรือการใช้งาน หากต้องออกแบบห้องสักห้องหนึ่ง อย่างห้องครัว ที่ทุกคนในบ้านต่างต้องใช้งานร่วมกัน เพื่อให้ได้ระยะต่างๆ อย่างเหมาะสม Ergonomic ถือเป็นจุดเริ่มต้นการออกแบบที่สำคัญในการออกแบบส่วนต่างๆ ให้สัมพันธ์กับการใช้งาน ทั้งระยะการหยิบจับสิ่งของได้สะดวก และปลอดภัยต่อผู้ใช้งานเอง
โซนการทำครัว
ก่อนอื่นจะต้องรู้ก่อนว่า ภายในครัวมีการแบ่งพื้นที่สำหรับใช้งานอย่างไร โดยพื้นที่การทำครัวหลักๆ จะมี 3 ส่วน ดังนี้
พื้นที่ A สำหรับเก็บของ ทั้งของสดและของแห้ง ในส่วนนี้จะมีตู้เย็น ตู้ และชั้นวางของ การออกแบบที่ดีควรแยกชนิดวัตถุดิบต่างๆ อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้หาของต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
พื้นที่ B สำหรับล้างและทำความสะอาด ประกอด้วยซิงค์ล้างจาน และที่พักจาน โซนนี้ควรวางใกล้ตู้เย็น เพราะจะใช้พื้นที่ร่วมกับการเตรียมวัตถุดิบ เช่น สามารถนำผัก ผลไม้ มาล้างได้อย่างสะดวก เป็นต้น
พื้นที่ C สำหรับเตรียมของและปรุงอาหาร เป็นส่วนของท็อปครัวโล่งๆ พื้นที่เตาประกอบอาหาร เครื่องดูดควัน รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่ต้องนำอาหารสดมาผ่านกรรมวิธีการปรุงในแบบต่างๆ อย่างเครื่องปั่น หรือไมโครเวฟ เพื่อความปลอดภัยจากการถือของร้อนเดินไปมาระหว่างการปรุงและการจำกัดความสกปรกเลอะเทอะไม่ให้ขยายวงกว้าง จึงควรวางเครื่องใช้ไฟฟ้าใกล้กัน ในระยะที่เดินได้ไม่เกิน 1-2 เมตร และไม่ควรมีสิ่งกีดขวาง
ผังครัว ขั้นแรกการออกแบบ จากการใช้พื้นที่ทั้ง 3 โซน A, B และ C
ห้องครัวแบ่งออกเป็นลักษณะต่างๆ ได้ตามการคำนวณขนาดของพื้นที่ ว่าครัวของเราควรเป็นครัวรูปทรงใด มาเริ่มกันที่พื้นที่เล็กไปหาใหญ่กันเลยว่า จะออกแบบครัวเป็นรูปทรงใดได้บ้าง
1. พื้นที่ 3-5 ตร.ม. ควรจัดวางครัวเป็นรูปตัว i (i-Shaped Kitchen) เป็นครัวที่มีเคาน์เตอร์ครัวติดผนังด้านใดด้านหนึ่ง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า One wall Kitchen เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดมิเนียมหรือทาวน์เฮ้าส์ ครัวลักษณะนี้มักจะมีพื้นที่ทั้ง 3 โซน อยู่ในแถวเดียวกัน
Tip : การออกแบบพื้นที่ครัวรูปทรงนี้ ควรออกแบบเรียงลำดับพื้นที่ใช้งาน A, B และ C จากซ้ายไปขวา
2. พื้นที่ 6 ตร.ม. ขึ้นไป ควรจัดวางครัวเป็นรูปตัว L (L-Shaped Kitchen) โดยการดีไซน์แบบนี้จะสามารถนำโต๊ะทานข้าวเล็กๆ มาวางตรงอีกมุมตรงข้ามเคาน์เตอร์ได้ หากมีพื้นที่เหลือพอ
Tip : การจัดครัวลักษณะนี้ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ส่วนใหญ่พื้นที่ใช้งาน A และ B จะอยู่เคาน์เตอร์ด้านที่ยาวกว่าและมักวางใกล้กัน แต่หากเคาน์เตอร์ด้านยาวนั้นมีหน้าต่างที่ระบายอากาศได้ดีกว่า ก็ควรนำโซนปรุงอาหารมาตั้งบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ดังนั้นจะจัดวางตำแหน่งใดก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นเป็นหลัก
3. พื้นที่ 9 ตร.ม. ขึ้นไป ควรจัดวางครัวเป็นรูปตัว U (U-Shaped Kitchen) หรือจะจัดเป็นครัวแบบเส้นขนาน (Gallery Kitchen) ก็ได้ ซึ่งทั้งสองรูปแบบจะต่างกันแค่มีการเชื่อมเคาน์เตอร์ครัวกันหรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่หรือผนังด้านที่เชื่อมกันเป็นช่องแสงขนาดใหญ่แค่ไหน ถ้าช่องแสงความยาวจากพื้นถึงฝ้าเต็มผนัง ก็ไม่ควรมีเคาน์เตอร์มาบังหน้าต่าง เพื่อให้แสงเข้ามาในครัวมากที่สุด
Tip : การจัดวางครัวลักษณะนี้ หากเป็นรูปตัว U ควรวางพื้นที่ใช้งาน A และ C ตรงข้ามกัน ครัวแบบเส้นขนานมักจะวางพื้นที่ใช้งาน B และ C อยู่ในฝั่งเดียวกัน ตรงกลางจะมีพื้นที่ความกว้าง 80-120 ซม. ที่สามารถหมุนตัวเองทั้งด้านหน้าและหลังได้สบายๆ ตลอดเวลาการทำครัว
4. พื้นที่ 12 ตร.ม. ขึ้นไป สามารถจัดครัวแบบเกาะกลาง (Island Kitchen) ที่มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่เพื่อความเหมาะสมกับพื้นที่ได้ ซึ่งเข้าคู่ได้กับครัวทุกรูปแบบ ทั้งครัวรูปตัว I ตัว U หรือตัว L แต่ครัวแบบนี้จะใช้กับบ้านที่มีแปลนแบบ Open Space ข้อดีคือสมาชิกในบ้านช่วยกันเตรียมอาหารได้ทุกด้าน แต่จะต้องมีพื้นที่โดยรอบมากพอ หรือกว้างอย่างน้อย 60 ซม.
หลายคนอาจคิดว่า เกาะกลางนี้จะต้องเป็นแบบถาวร แต่ในความเป็นจริงเกาะกลางนี้สามารถใส่ล้อแล้วเคลื่อนย้ายได้ ส่วนรูปแบบของเกาะกลางนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะใช้งานเกาะกลางนั้นอย่างไร บางบ้านไม่มีความจำเป็นมากก็อาจจะทำเป็นเพียงเคาน์เตอร์เท่านั้น แต่บางทีอาจใช้เป็นอ่างล้างจาน เตาปรุงอาหาร ที่วางของ หรือโต๊ะรับประทานอาหารก็ได้
Tip : สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงสำหรับการทำเกาะกลางคือเรื่องงานระบบน้ำ-ไฟ เพื่อให้การติดตั้งไม่ยุ่งยากและเป็นระเบียบเรียบร้อย ควรมีการวางแผนก่อนว่าเกาะกลางที่เราต้องการนั้นจะใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นหลัก
ระยะต่างๆของเคานเตอร์สำหรับการใช้งาน
เมื่อได้รูปแบบครัวที่เหมาะสมกับพื้นที่แล้ว ก็มาถึงระยะความสูงและความกว้างของเคาน์เตอร์ครัว นอกจากจะต้องเช็คระบบท่อต่างๆ ตามผนังให้สัมพันธ์กันดีแล้ว การบิวท์อินครัวก็ต้องอยู่ในระยะที่ได้มาตรฐานด้วย ได้แก่ เคาน์เตอร์ครัวสำหรับพื้นที่ที่ใช้งานได้ดีควรลึก 60 ซม. และสูงจากพื้นถึงท็อป 90-105 ซม. ส่วนบิวท์อินตู้ลอย จากชั้นล่างสุดสูงขึ้นมาจากท็อปครัว ประมาณ 40-70 ซม. ลึก 20-40 ซม. เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุจากการที่ศีรษะของผู้ใช้งานไปชนหรือกระแทก ถ้าภาพรวมตู้ลอยสูงกว่า 2.10 เมตร ต้องใช้บันไดเล็กในการหยิบของที่ชั้นสูงสุด
ส่วนเครื่องดูดควันควรห่างจากเตาไฟ 50-70 ซม. รวมทั้งเกาะกลางที่ควรสูงจากพื้นให้เท่ากับท็อปเคาน์เตอร์โดยรอบ และไม่ควรกว้างเกิน 1 ม. เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานเอื้อมมือไปอีกฝั่งได้ยาก ส่วนความยาวจะขึ้นอยู่กับพื้นที่รอบๆ โดยจะต้องเดินได้รอบ ความกว้างไม่น้อยกว่า 60 ซม.
ข้อควรคำนึงถึง
ตามหลักแล้ว ตู้เย็นและที่เก็บอาหารแห้งควรที่จะอยู่ใกล้กับจุดทางเข้าห้องครัวที่สุด เว้นพื้นที่เคาน์เตอร์ด้านขวา ประมาณ 40-60 ซม. ช่วยให้มีพื้นที่ว่างสำหรับวางสิ่งของที่คุณหยิบออกมาจากตู้เย็นหรือตู้เก็บอาหารต่างๆ ได้ บริเวณนี้ยังควรมีชั้นลอยเล็กๆ สำหรับวางทั้งเครื่องปรุงต่างๆ ในการเตรียมอาหาร กระดาษทิชชู ลิ้นชักเก็บถุงพลาสติก กระดาษฟอยด์ หรือทัพเพอร์แวร์ ในขณะที่ตู้ลอยวางของด้านบนก็อาจวางชามใหญ่ๆ อย่างชามตีแป้ง ชามสลัด หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับเตรียมอาหาร รวมถึงถังขยะที่ควรอยู่ในพื้นที่นี้เช่นกัน แต่หากว่าห้องครัวคุณมีพื้นที่มาก พื้นที่เตรียมอาหารก็ยิ่งมีได้มากขึ้น ช่วยให้การเตรียมอาหารสะดวกสบายขึ้น
อีกหนึ่งระยะที่ควรคำนึงถึงนั้นคือ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ จะมีจุดระยะที่สะดวกต่อสรีระการใช้งานกับเราเช่นกัน อย่างเตาอบที่จะต้องสูงในระดับเดียวกับเคาน์เตอร์ครัวสำหรับเตรียมอาหาร เพราะเมื่อเราเตรียมอาหารเสร็จ ก็เปิดใช้งานได้ทันที ถ้าติดตั้งต่ำกว่าหรือสูงกว่าอาจจะใช้งานไม่สะดวก เพราะต้องก้มตัวลงต่ำหรือเขย่งตัวใช้งาน ความสูงที่แนะนำ คือ จากพื้นถึงฐานเตาอบควรอยู่ที่ 45-70 ซม. ส่วนไมโครเวฟนั้นก็เช่นกัน ควรวางให้อยู่ในระดับสายตา สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ก็สามารถเก็บตามตู้ให้เป็นระเบียบได้