วิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันมีความเร่งรีบในหลายด้าน แต่ในช่วงวันหยุดหรือในช่วงเย็นหลังเลิกงาน หลายครอบครัวยังนิยมปรุงอาหารร่วมรับประทานกันเอง นอกจากนั้น ความนิยมในการอยู่อาศัยคอนโดมิเนียมหรืออพาร์ทเมนต์ ซึ่งมีข้อห้ามในการใช้เตาแก๊ส ทำให้เตาไฟฟ้าเป็นที่ต้องการมากขึ้น
แต่เตาไฟฟ้ามีหลายประเภท สร้างความสับสนงุนงงให้กับผู้ใช้งานอย่างมาก บางคนเข้าใจว่ามีคำว่าไฟฟ้าก็มีฟังก์ชันการใช้งานที่เหมือนกัน ดังนั้น เฮเฟเล่จะพาทุกท่านไปหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วเตาไฟฟ้าแต่และแบบแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไร
เตาแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเตาอินดักชัน (Induction Hob)
เป็นเตาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยกลไกการทำงาน คือ ภายในเตาชนิดนี้มีขดลวดทองแดงอยู่ เมื่อเปิดใช้งาน ไฟฟ้าจะกระตุ้นทองแดงให้สร้างสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำกับภาชนะที่เป็นโลหะจนเกิดความร้อนขึ้น
ลักษณะเด่น
- ดีไซน์สวยงาม ค่อนข้างดูหรูหรา ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมาก
- ร้อนเร็ว ประหยัดพลังงาน เตาอินดักชั่นจะเกิดความร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วและสูญเสียความร้อนให้สภาพแวดล้อมน้อยมาก จึงกินไฟน้อยและประหยัดพลังงาน ทั้งยังสามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างแม่นยำ
- ปลอดภัย เนื่องจากมีความร้อนเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่วางภาชนะเท่านั้น ส่วนบริเวณรอบๆ จะไม่ร้อน เท่านั้น ดังนั้น แม้มือสัมผัสหน้าเตาก็ไม่เกิดอันตราย และถ้ายกภาชนะใส่อาหารออก ระบบทำความร้อนจะหยุดอัตโนมัติทันที
- ทำความสะอาดง่าย เนื่องจากความร้อนที่ใช้ในการปรุงอาหารเกิดขึ้นเพียงบริเวณหัวเตา แต่รอบเตาไม่มีความร้อน ดังนั้น แม้อาหารจะเดือดจนล้นออกจากภาชนะ ก็ไม่เกิดการไหม้จนแห้งติดกับหน้าเตาจนเกิดเป็นคราบสกปรก จึงทำให้สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย
- ราคาสูง เตาอินดักชันมีราคาค่อนข้างสูง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณสองหมื่นกว่าๆ ถึงสามหมื่นกลางๆ ดังนั้นหลายคนอาจคิดหนักถ้าต้องการใช้เตานี้
- มีข้อจำกัดเรื่องการใช้ภาชนะ ใช้ได้กับภาชนะโลหะหรือภาชนะที่ระบุว่าสามารถใช้ได้กับเตาแม่เหล็กไฟฟ้าเท่านั้น ภาชนะจำพวกแก้ว เซรามิค ไม่สามารถใช้กับเตาประเภทนี้ได้ เพราะไม่อาจเหนี่ยวนำให้เกิดความร้อนขึ้น
เตาไฟฟ้าเซรามิค (Ceramic hob)
เป็นเตาที่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับเตาแม่เหล็กไฟฟ้า โดยกลไกทำงาน คือ ใช้หลอดฮาโลเจน หลอดอินฟราเรด หรือขดลวดไฟฟ้าเป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดความร้อนส่งขึ้นสู่ภาชนะที่วางบนหน้าเตา
ลักษณะเด่น
- ดีไซน์สวยงาม หน้าเตาทำจากกระจกเซรามิค ทั้งยังค่อนข้างทนทานต่อแรงกระแทกและอุณหภูมิสูงได้ดี
- ปลอดภัย เมื่อเตามีความร้อนเกิดขึ้น บริเวณกระจกเซรามิคจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม เพื่อเตือนว่าเตากำลังทำงานอยู่ (แต่เตาอินดักชั่นหน้าเตาไม่เป็นสีแดง)
- ใช้ได้กับภาชนะหลากหลาย เตาไฟฟ้ากระจกเซรามิค สามารถใช้งานกับภาชนะได้ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งโลหะ เซรามิค หรือกระเบื้อง ไม่มีข้อจำกัดเรื่องภาชนะเหมือนเตาอินดักชัน
- ราคาไม่สูงมาก เฉลี่ยอยู่ที่หลักพันปลายๆ ถึงหมื่นต้นๆ เท่านั้น ต่างจากเตาอินดักชั่นที่มีราคาค่อนข้างสูง
- มีความร้อนเกิดขึ้นทั่วบริเวณหน้าเตา ขณะใช้งานจึงต้องระมัดระวังอย่าให้มือไปสัมผัสบริเวณหน้าเตา
- ความร้อนหลงเหลือหลังจากปิดเตาใหม่ๆ โดยความร้อนไม่ได้สูญหายไปทันทีที่ปิดเตา แต่ยังคงหลงเหลืออยู่บริเวณหน้าเตา จึงต้องระมัดระวังในการใช้งาน
เตาหัวเพลทไฟฟ้าหรือเตาไฟฟ้าเพลทร้อน (Hot Plate)
เป็นเตารุ่นเก่าที่ปัจจุบันอาจได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากมีจุดด้อยหลายประการ เตาประเภทนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเตาแก๊ส แต่ส่วนบนจะเป็นแผ่นเพลทกลมสีดำ ด้านใต้แผ่นสีดำมีขดลวดทำความร้อน โดยกลไกการทำงาน คือ กระแสไฟฟ้าจะเป็นตัวเหนี่ยวนำให้ขดลวดภายในเตาเกิดความร้อน จากนั้นความร้อนจะถูกส่งผ่านไปยังหัวเพลทเตา และส่งถึงภาชนะใส่อาหารบนหน้าเตา
*ภาพสินค้าประกอบการโฆษณาเท่านั้น
ลักษณะเด่น
- ราคาถูก เตาหัวเพลทไฟฟ้ามีราคาค่อนข้างถูก มีงบหลักพันกลางๆ ค่อนไปทางปลายๆ ก็ซื้อได้แล้ว
- ทนทาน รับน้ำหนักได้ค่อนข้างมาก สามารถใช้กับภาชนะขนาดใหญ่ได้
- ควบคุมและปรับอุณหภูมิยาก เนื่องจากกระบวนการส่งผ่านความร้อนมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่ขดลวดที่ถูกเหนี่ยวนำจนเกิดความร้อน หัวเพลท และภาชนะ ทำให้การควบคุมและปรับอุณหภูมิทำได้ค่อนข้างยาก เพราะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่ขดลวดต้องใช้เวลานาน
- กินไฟ สิ้นเปลืองพลังงาน เมื่อกระบวนการส่งผ่านความร้อนต้องใช้เวลามาก ดังนั้น เตาไฟฟ้าแบบนี้จึงค่อนข้างกินไฟมากและสิ้นเปลืองพลังงาน
- เสี่ยงต่อการไหม้ เนื่องจากการเปิดเตาค้างไว้ ทำให้มีความร้อนเกิดขึ้นตลอดเวลา จึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ได้ การใช้งานต้องระมัดระวังอย่างมาก
- มีอันตรายจากความร้อนหลังปิดเตา หลังจากปิดการใช้งานใหม่ๆ จะยังคงมีความร้อนหลงเหลืออยู่บริเวณหน้าเตา จึงต้องระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสโดยไม่ได้ตั้งใจ
อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนคงทราบแล้วว่า เตาทั้ง 3 ประเภท มีความเหมือนและความแตกต่างกันในหลายประเด็น การเลือกใช้จึงต้องคำนึงและตระหนักถึงจุดประสงค์การใช้งาน ตลอดจนจุดเด่นหรือข้อควรระวังต่างๆ เพื่อให้การใช้งานเกิดประโยชน์สูงสุด