นอกจากการเปิด-ปิดประตูทุกครั้งจะฝืดแล้ว บางครั้งยังส่งเสียงเอี๊ยด...อ๊าด... เสียดแทงหู สร้างความรำคาญใจให้แก่เรามากๆ ถ้าคุณเป็นหนึ่งที่เคยประสบปัญหาเรื่องนี้อยู่ และกำลังใคร่รู้ถึงสาเหตุว่าประตูฝืดนั้นเกิดจากอะไร วิธีแก้ไขต้องทำอย่างไร เรามีข้อมูลเป็นประโยชน์มาแชร์ให้แล้ว! รับรองหากนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ต้องลื่นปรื๊ด... ลื่นปรื๊ดขึ้นแน่นอน
เลือกใช้ประตูผิดประเภท
เพราะประตูบ้านมีหลายประเภทให้เลือกใช้งาน สิ่งแรกเลยเราควรเลือกประตูให้เหมาะสมกับการใช้งานก่อน ฉะนั้นควรศึกษาเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ทำประตูกันสักนิด... อาทิเช่น ประตูไม้อัด ไม่เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานภายนอกอาคาร เพราะไม่ทนต่อความชื้นและแสงแดด รวมถึงประตูไม้จริงถ้าไม่ได้ผ่านการอบ เมื่ออยู่นอกอาคารมักเกิดการโก่งตัว ส่งผลต่อการเปิด-ปิดประตูด้วยนั่นเอง ส่วนประตู PVC เหมาะใช้เป็นประตูห้องน้ำ เพราะสามารถทนต่อความชื้นได้ดี เป็นต้น
เลือกบานพับไม่เหมาะสมกับประตู
เพราะบานพับมีให้เลือกหลายประเภท เช่น บานพับผีเสื้อ (ใช้กับประตูทั่วไป) บานพับแบบซ่อน (ออกแบบไม่ให้เห็นบานพับและแกนขณะเปิด-ปิด) บานพับแบบคาวบอย (ใช้กับประตูที่เปิด-ปิดได้ทั้งสองด้าน) เป็นต้น ดังนั้นควรเลือกให้เหมาะสมแก่การใช้งาน สอดรับกับขนาดและน้ำหนักของประตู เพราะถ้าเลือกไม่ดี ไม่สามารถทานน้ำหนักของบานประตูได้ ใช้งานไประยะหนึ่งก็จะทำให้ประตูตก เป็นสาเหตุที่ทำให้ประตูฝืดเปิดไม่ออก ที่สำคัญยังสร้างความเสียหายไล่ลามไปถึงอุปกรณ์ลูกบิดหรือก้านโยกต่างๆ ได้ ฉะนั้นก่อนตัดสินใจซื้อก็ควรระบุขนาด น้ำหนัก และประเภทของประตูให้แก่ร้านที่จำหน่ายทราบ เพื่อให้ช่วยหาบานพับที่เหมาะสมกับประตูมาใช้งาน
*กรณีที่ประตูสูงเกิน 2.10 ม. ควรติดตั้งบานพับสัก 4 ตัว หรือหากมีบ้านตั้งอยู่ริมทะเลควรเลือกบานพับที่เคลือบด้วย PVD เพื่อป้องกันการสึกกร่อนจากไอทะเล
บานพับชำรุดหรือเสื่อมสภาพ
เมื่อใช้งานไปนานๆ เปิด-ปิดประตูทุกวันๆ ก็อาจทำให้บานพับเกิดความเสื่อมสภาพหรือชำรุดได้ เช่น น็อตยึดบานพับผีเสื้อเกิดการคลายตัว ดังนั้นควรตรวจตราและขันให้แน่นอยู่เสมอ (หรือเปลี่ยนตัวน็อตที่ยาวขึ้นกว่าเดิมมาขันใหม่ทั้งหมด) หรือกรณีที่มีเสียงดังขณะเปิด-ปิด แก้ไขได้โดยใช้น้ำมันหล่อลื่นหยอดตรงบริเวณบานพับก็จะสามารถช่วยได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แค่คุณเลือกประตูให้สอดรับกับบานพับ ตามสองหัวข้อข้างต้น เท่านี้ก็เป็นวิธีที่จะช่วยยืด... เวลาต่อการเกิดปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นที่เราไม่ควรมองข้ามเชียวล่ะ
*ภาพสินค้าประกอบการโฆษณาเท่านั้น