แม้โถปัสสาวะชายส่วนใหญ่มักพบเห็นตามห้องน้ำสาธารณะ แต่ปัจจุบันได้มีการสร้างสรรค์ขนาดและรูปทรงให้เลือกหลากหลาย จึงทำให้สุขภัณฑ์ประเภทนี้สามารถติดตั้งเข้ากับห้องน้ำในบ้านได้ลงตัวยิ่งขึ้น หากตั้งธงถามว่าทุกบ้านจำเป็นต้องมีหรือไม่? ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและข้อตกลงระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว แต่ถ้าคุณสนใจ หรืออยู่ระหว่างช่วงตรึกตรอง (มีหรือไม่มี?) อยากทราบถึงข้อดี รวมถึงอยากรู้ว่าโถปัสสาวะมีกี่แบบ แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร ลองดูข้อมูลที่เราเตรียมมาฝากกันก่อนได้
โถปัสสาวะสำคัญไฉน
ข้อดีของการติดตั้งโถปัสสาวะคือ ช่วยประหยัดน้ำกว่าการใช้ชักโครกชำระล้างการถ่ายเบา แถมดูแลทำความสะอาดง่าย แบ่งพื้นที่ห้องน้ำได้เป็นสัดส่วนยิ่งขึ้น ที่สำคัญสะดวกต่อผู้ใช้งาน ไม่เกิดดราม่าถกเถียงกันเรื่องการไม่เอาฝารองนั่งชักโครกลง ขอบโถชักโครกเกิดคราบ หรือน้ำกระเซ็นเปื้อนพื้นที่ ซึ่งเกิดจากการล้างขอบโถชักโครก นอกจากนั้นปัจจุบันโถปัสสาวะยังได้รับการดีไซน์มาให้เลือกมากมายทั้งแบบเรียบหรู โมเดิร์น และคลาสสิก สามารถนำมาแมทช์เข้ากับห้องน้ำในแบบฉบับที่เป็นตัวเองได้ไม่ยาก
ประเภทของโถปัสสาวะ
1. แบบแขวนผนัง มักมีขนาดกะทัดรัด จึงเหมาะแก่ห้องน้ำที่มีพื้นที่จำกัด โดยสามารถติดตั้งได้ง่ายทั้งแบบแขวนเข้ากับตะขอที่ยึดกับผนัง และแบบยึดด้วยพุกเข้ากับโถปัสสาวะ ซึ่งระยะความสูงของขอบโถควรอยู่ระหว่าง 61-65 ซม.(ทั้งนี้สามารถปรับระดับได้ตามความเหมาะสมของผู้ใช้งาน) แถมโถแบบแขวนยังมีระบบชำระล้างให้เลือกหลากหลาย อาทิเช่น แบบฟลัชวาล์ว จ่ายน้ำเข้าด้านบนเป็นตัวควบคุมการเปิด-ปิด, แบบปุ่มกดน้ำ จ่ายน้ำเข้าด้านหลัง และแบบอัตโนมัติ ที่มาพร้อมสัญญาณตรวจจับการใช้งานด้วยระบบรังสีอินฟาเรด
2. แบบตั้งพื้น จุดเด่นคือมีรูปโถที่ใหญ่ออกแบบมารองรับสรีระทุกวัย จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในห้องน้ำสาธารณะ แต่ปัจจุบันได้มีการปรับลดทอนรูปทรงให้ดูเพรียวบางลง เพื่อให้สอดคล้องกับห้องน้ำในบ้านพักอาศัยมากขึ้น สำหรับการติดตั้งจะยึดเข้ากับพื้น และส่วนใหญ่นิยมใช้โถปัสสาวะที่มีท่อน้ำทิ้งแบบเข้าผนัง เพราะง่ายต่อการติดตั้งนั่นเอง (แบบท่อน้ำทิ้งลงพื้นก็มีให้เลือก แต่ยุ่งยากและต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญสูงในการเตรียมพื้นที่หน้างาน)
- เพื่อให้ถูกสุขอนามัยควรหมั่นทำความสะอาดโถปัสสาวะทุกวัน
- ควรใช้น้ำยาล้างห้องน้ำทำความสะอาดเฉพาะส่วนที่เป็นเซรามิค (ทิ้งน้ำยาไว้ประมาณ 1 นาที ก่อนล้างน้ำให้สะอาดแล้วจึงเช็ดด้วยผ้าแห้งหนึ่งหน และตามด้วยหนสองเพื่อเช็ดขัดเงา)
- ส่วนที่เป็นโครเมียมควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาสูตรอ่อนๆ ก่อนล้างด้วยน้ำเปล่า เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำผสมน้ำ หรือน้ำส้มสายชูผสมน้ำ ในสัดส่วน 1:1
- ห้ามขัดทำความสะอาดด้วยวัสดุมีคม ที่ก่อให้เกิดรอยขีดข่วนบนผิวสุขภัณฑ์
ดาวน์โหลดแค็ตตาล็อกสุขภัณฑ์